ใครเจอบ้านที่ถูกใจ ถ้าไม่ได้จะซื้อบ้านด้วยเงินสด ก็จะต้อง ยื่นกู้สินเชื่อบ้านจากธนาคารมาซื้อ แล้วค่อยๆ ผ่อนจ่ายไปตามสัญญา โดยไม่ว่าจะเป็นบ้านใหม่หรือบ้านมือสอง ก็สามารถกู้สินเชื่อกับธนาคารมาซื้อได้ค่ะ แต่ว่าจะมีเงื่อนไขบางอย่างที่ธนาคารกำนดไว้แตกต่างกัน
ก่อนยื่นกู้สินเชื่อซื้อบ้านมือสอง จึงมีอีกหลายเรื่องที่ผู้ซื้อมือใหม่ควรต้องรู้ไว้ด้วยค่ะ วันนี้ Home Hug by Home Buyers เลยรวบรวมข้อมูลมาแชร์ให้ทุกคนได้เตรียมตัวรับมือกับการกู้สินเชื่อบ้านมือสองกันอย่างดีค่ะ
1 ซื้อบ้านมือสอง จะไม่มีการผ่อนดาวน์
ปกติแล้วการผ่อนดาวน์จะเกิดในกรณีที่ผู้ซื้อตกลงกับผู้ขายซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งแบบโครงการจัดสรรและนอกจัดสรร เพื่อขอผ่อนชำระเงินดาวน์จนกว่าบ้านหรือคอนโดที่จองไว้จะสร้างเสร็จและพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งสามารถผ่อนได้เป็นระยะเวลาตั้งแต่ 3 - 6 เดือน สำหรับบ้าน หรือจาก 6 เดือนถึง 2 ปีในกรณีของคอนโด โดยขึ้นอยู่ระยะเวลาที่คาดว่าบ้านจะสร้างเสร็จ
แต่สำหรับบ้านมือสองและคอนโดมือสอง ผู้ซื้อไม่สามารถผ่อนดาวน์ได้ เพราะบ้านหรืออาคารคอนโดนั้นสร้างเสร็จแล้ว และเจ้าของก็ต้องการรีบโอนกรรมสิทธิ์เพื่อรับเงินให้เร็วที่สุด ทำให้การซื้อก็บ้านมือสองจำเป็นจะต้องมีเงินเก็บเป็นก้อนมาทดแทนในส่วนของเงินดาวน์ ราว 10 - 20% ของราคาบ้าน เนื่องจากธนาคารจะให้วงเงินกู้สินเชื่อบ้านมือสองสูงสุดประมาณ 80 - 90% เท่านั้นค่ะ
2 สินเชื่อบ้านมือสอง ให้วงเงินไม่เต็ม 100%
ปกติแล้วธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อบ้านใหม่ให้สูงสูดถึง 100% ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน แต่พอเป็นบ้านมือสอง ธนาคารจะอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อบ้านมือสองให้เพียง 80 - 90% ของราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน ด้วยสาเหตุสำคัญคือค่าเสื่อมสภาพของบ้านซึ่งเคยผ่านการใช้งานมาแล้วนั่นเอง ผู้ซื้อจึงต้องเก็บเงินประมาณ 10 - 20% ไว้จ่ายเป็นเงินดาวน์ชดเชยวงเงินส่วนที่ขาดหายไป อย่างที่บอกในข้อที่แล้วนั่นเองค่ะ
3 มีขั้นตอนในการยื่นขอสินเชื่อที่ซับซ้อน
ซื้อบ้านมือสองแบบกู้สินเชื่อจากธนาคารจะมีขั้นตอนที่ซับซ้อนกว่าขอสินเชื่อซื้อบ้านใหม่อยู่พอสมควรเลยค่ะ โดยสามารถสรุปให้เข้าใจง่ายๆ ได้ตามนี้
ผู้ซื้อต้องเจรจากับผู้ขายเพื่อตกลงสัญญาซื้อขาย โดยสาระสำคัญคือราคาขายและเงินมัดจำ
ผู้ซื้อขอสำเนาโฉนดที่ดินจากผู้ขาย พร้อมสัญญาซื้อขาย ไปยื่นขอสินเชื่อซื้อบ้านกับธนาคาร
ธนาคารเข้าไปประเมินราคาบ้าน ก่อนพิจารณาอนุมัติวงเงินให้ผู้ซื้อ 80 - 90% ของราคาบ้าน
หากบ้านยังติดจำนองกับธนาคารเดิม ผู้ขายจะต้องทำเรื่องไถ่ถอนจำนองกับธนาคารนั้นก่อน
หลังผู้ขายทำเรื่องขอไถ่ถอนจำนองกับธนาคารเดิมเสร็จแล้ว ธนาคารฝั่งผู้ซื้อจะรับจำนองต่อ
นัดผู้ซื้อ ผู้ขาย และตัวแทนธนาคารที่ให้สินเชื่อ ทำเรื่องโอนกรรมสิทธิ์บ้านและจดจำนองใหม่
โดยในวันที่นัดกันไปโอนกรรมสิทธิ์ ยังมีค่าธรรมเนียมที่ผู้ซื้อต้องเป็นฝ่ายรับผิดชอบอยู่ 2 รายการ นั่นก็คือ ค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ 2% จากราคาขายหรือราคาประเมิน และ ค่าจดจำนอง 1% จากวงเงินกู้ที่จำนองกับธนาคาร
ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ ออกนโยบายลดค่าโอนฯ - จดจำนอง เหลือแค่รายการละ 0.01% ซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย จากเดิมหลักหมื่น ลดลงมาเหลือหลักพันเท่านั้นเอง
ทั้งนี้ในรายการค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ (ปกติ 2% ช่วยมาตรการพิเศษ 0.01%) จะไม่มีกำหนดตายตัวว่าฝ่ายไหนเป็นผู้จ่าย ในตอนที่ทำสัญญาซื้อขายจึงสามารถต่อรองกันได้ว่าจะแบ่งจ่ายฝ่ายละเท่าไร หรือจะให้ใครรับไปเต็มๆ
4 อย่าลืมวางแผนเรื่องค่าซ่อมแซมบ้าน
บ้านมือสองที่รีโนเวทมาเรียบร้อยแล้ว ราคาอาจจะสูง แต่ก็จบปัญหาเรื่องการซ่อมแซมและตกแต่งใหม่ไปเลยค่ะ กู้เงินซื้อบ้านก้อนเดียวจบเลย แต่ถ้าเป็นบ้านสภาพเดิมๆ ที่อาจมีความทรุดโทรมหรือเสียหายตามกาลเวลาและการใช้ง่าน เราก็จำเป็นต้องซ่อมแซมหรือรีโนเวทเพื่อให้บ้านมีสภาพพร้อมอยู่
ก่อนกู้ซื้อบ้านมือสองจึงต้องเตรียมเงินเก็บในส่วนของค่าซ่อมบ้านไว้ด้วย หรือถ้ามีเงินสดไม่พอก็จะได้วางแผนขอกู้สินเชื่ออเนกประสงค์เพื่อตกแต่งบ้านไปพร้อมๆ กับการกู้สินเชื่อซื้อบ้านเลย โดยธนาคารจะใช้บ้านเป็นหลักประกัน ซึ่งวงเงินกู้ก็จะขึ้นอยู่กับการประเมินค่าใช้จ่ายในการซ่อมและตกแต่งนั่นเองค่ะ
และนี่คือ เรื่องที่ผู้ซื้อควรรู้ ก่อนยื่นกู้สินเชื่อซื้อบ้านมือสอง ที่ Home Hug by Home Buyers นำมาฝากกันค่ะ หวังว่าจะมีประโยชน์กับการเตรียมตัววางแผนการเงินกันนะคะ และถ้าใครยังไม่เจอบ้านหรือคอนโดที่ถูกใจ แวะมาดูประกาศขายบ้าน - คอนโด ใน www.homehug.in.th กันได้เลย เรามีทรัพย์สวยทำเลน่าสนใจ รวบรวมไว้เพียบเลยค่า