แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับคอนโดมิเนียมตึกสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ แม้ส่วนใหญ่โครงสร้างอาคารจะยังปลอดภัย แต่ก็มีหลายๆ ตึกที่เกิดความเสียหายกับระบบสาธารณูปโภคหรือลิฟต์จนไม่สามารถใช้งานอาคารได้เต็มรูปแบบ
ในส่วนของห้องชุด ก็มีจำนวนไม่น้อยเลยที่ได้รับความเสียหายตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงขั้นหนักจนอยู่ไม่ได้ ทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รับความเดือดร้อน โดยในส่วนของห้องให้เช่า จึงมีหลายเรื่องที่เจ้าของห้องต้องรับมือร่วมกับผู้เช่า รวมถึงประสานกับฝ่ายต่างๆ โดยจะมีอะไรบ้าง Home Hug by Home Buyers สรุปมาให้แล้วค่ะ
ติดตามการตรวจสอบความเสียหายของอาคาร
หลังเกิดแผ่นดินไหว ทั้งบริษัทผู้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมและหน่วยงานรัฐจะส่งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบสภาพความเสียหายของอาคาร โดยเฉพาะด้านโครงสร้างว่าเป็นอันตรายต่อการใช้งานหรือไม่ หากตรวจสอบผ่านแล้วจะมีการออกใบอนุญาตรับรองไว้ให้
นี่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ให้เช่าต้องเฝ้าติดตามและส่งข่าวให้ผู้เช่ารับรู้อยู่เสมอ โดยเฉพาะหากมีการปิดซ่อมแซมจุดสำคัญอย่างลิฟต์หรือระบบ Auto Parking ในบางโครงการ โดยที่หนักกว่านั้นคืออาคารมีความเสียหายจนถูกระงับการใช้งาน ผู้ให้เช่าก็จะต้องเกาะติดอัปเดตการซ่อมแซมอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นไปอีกค่ะ
ตรวจสอบความเสียหายของห้องเพื่อซ่อมแซม
เมื่อแผ่นดินไหวสงบลง และอาคารได้รับอนุญาตให้เข้าไปใช้งานได้แล้ว ผู้ให้เช่าต้องติดต่อผู้เช่าเพื่อเข้าตรวจสอบความเสียหายของห้องเพื่อประเมินการซ่อมแซมและเคลมประกันห้องชุด ควรติดต่อให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเป็นผู้ประเมินความเสียหาย และให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเข้ามาตีราคาค่าซ่อมแซมด้วยเลย
ประเมินความรับผิดชอบต่อผู้เช่าตามสัญญา
ในการประเมินความเสียหายของห้องชุด หากพบว่าสภาพของห้องไม่สามารถอยู่อาศัยได้ในระหว่างที่ซ่อมแซม ผู้ให้เช่าและผู้เช่าต้องกลับไปกางสัญญาดูว่ามีข้อกำหนดเรื่องความรับผิดชอบต่อเหตุภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุเกี่ยวกับห้องไว้หรือไม่ แล้วรับผิดชอบไปตามสัญญานั้น
แต่ด้วยเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวถือเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย เชื่อว่าหลายคนจึงไม่ได้ร่างสัญญาในเรื่องนี้ไว้ ดังนั้นอาจต้องยืดหยุ่นในการรับผิดชอบเยียวยาผู้เช่าตามที่จะตกลงกันได้ เช่น ในช่วงที่ผู้เช่าอยู่ห้องไม่ได้ ผู้ให้เช่าอาจเสนอ ช่วยลดค่าเช่า, ขยายสัญญาเช่าออกไปตามระยะเวลาที่ผู้เช่าใช้ห้องไม่ได้ แล้วไม่เก็บค่าเช่าในระหว่างนั้น หรือถ้าผู้ให้เช่ามีห้องชุดที่ซื้อไว้ลงทุนห้องอื่นยังว่างอยู่ อาจเสนอให้ผู้เช่าไปอยู่ที่ห้องนั้นแทนก่อน
นอกจากนี้หากแผ่นดินไหวส่งผลให้ทรัพย์สินของผู้เช่าเสียหาย หรือผู้เช่าได้รับบาดเจ็บ ผู้ให้เช่าก็อาจจ่ายเงินชดเชยเป็นการเยียวยาช่วยเหลือผู้เช่าได้ด้วย
เตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติในระยะยาว
ต่อเนื่องจากข้อที่แล้ว หลังเกิดแผ่นดินไหวไป ทำให้ทุกคนรู้แล้วว่าภัยพิบัติธรรมชาติเป็นเรื่องที่ยากต่อการคาดเดา หลังจากนี้ไปในการร่างสัญญาเช่าคอนโดจึงควรมีข้อกำหนดเรื่องความรับผิดชอบต่อผู้เช่า หากเกิดแผ่นดินไหวซ้ำขึ้นอีกด้วย เพื่อวางขอบเขตความรับผิดชอบของผู้เช่า และเพื่อสิทธิของผู้เช่า
นอกจากนี้ตามอาคารต่างๆ น่าจะมีความจริงจังในการซ้อมอพยพรับมือภัยพิบัติกันมากกว่าเดิม ผู้ให้เช่าจึงต้องรับรู้ขั้นตอนการอพยพและรู้ตำแหน่งทางหนีไฟ เพื่อแจ้งให้ผู้เช่าใหม่รับทราบทุกครั้งเมื่อย้ายเข้า หรือถ้าผู้เช่าเดิมยังอยู่ก็ควรแนะนำให้เข้าร่วมซ้อมอพยพด้วย
นี่คือ วิธีการรับมือหลังเกินเหตุแผ่นดินไหวที่เจ้าของห้องผู้ให้เช่าควรทำ ส่วนในมุมของผู้เช่าเองก็ต้องเรียนรู้และเตรียมพร้อมหากเกิดเหตุขึ้นอีก ควรเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินสำหรับแผ่นดินไหวไว้ใกล้ตัว รวมถึงศึกษาเส้นทางหนีภัย จุดรวมพลในโครงการ และติดตามข่าวสารจากหน่วยงานรัฐอย่างใส่ใจด้วยค่ะ