
สำหรับใครหลายคนที่อยากซื้อบ้าน แต่พอยื่นกู้สินเชื่อกับธนาคารไปแล้วถูกปฏิเสธ อาจด้วยเหตุผลว่าทำอาชีพอิสระ ไม่มีเอกสารยืนยันรายได้ที่ชัดเจน หรือเคยมีประวัติติดเครดิตบูโร ทั้งที่จริงๆ แล้วมีเงินเก็บและรายได้ที่สม่ำเสมอเพียงพอกับการซื้อบ้าน ยังมีอีกทางเลือกในการซื้อบ้านอยู่ค่ะ วิธีนั้นคือการ ซื้อบ้านแบบผ่อนตรงกับโครงการ นั่นเอง
วันนี้ Home Hug by Home Buyers เลยจะมาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับการซื้อบ้านแบบผ่อนตรง รวมถึงมาดูกันว่าการซื้อบ้านวิธีนี้มีข้อดีและข้อควรระวังอย่างไรบ้าง
ซื้อบ้านแบบผ่อนตรงเป็นอย่างไร?
การซื้อบ้านแบบผ่อนตรง คือการที่ผู้ซื้อและผู้ขายที่อาจเป็นโครงการหรือเจ้าของเดิม ตกลงซื้อขายกันได้โดยตรง แล้วแบ่งชำระเงินค่าบ้านเป็นงวดๆ แบบไม่ผ่านการกู้สินเชื่อบ้านกับสถาบันการเงิน
เมื่อไม่มีการกู้เงินกับธนาคาร ผู้ซื้อจึงไม่ต้องยื่นขอสินเชื่อกับธนาคาร และไม่ต้องตรวจเครดิตบูโร เหมาะสำหรับคนที่ไม่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อ เช่น อาชีพอิสระ ไม่มีเอกสารรายได้แน่นอน
ขั้นตอนการซื้อบ้านแบบผ่อนตรง
1 ตกลงราคา เงื่อนไข และทำสัญญาซื้อขาย ผู้ซื้อและผู้ขาย (โครงการหรือเจ้าของบ้าน) ตกลงราคาขาย พร้อมกับกำหนดเงินดาวน์ ค่างวด จำนวนงวดที่จะผ่อน รวมถึงอัตราดอกเบี้ย และที่สำคัญคือวิธีการโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งอาจกำหนดไว้หลังผ่อนครบหรือจดจำนองไว้ก่อน
รายละเอียดที่ต้องระบุในสัญญา :
- ราคาขาย
- ตารางผ่อน
- ดอกเบี้ย
- เงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์
- บทลงโทษกรณีผิดนัด
2 โอนกรรมสิทธิ์ และจดจำนองบ้านกับผู้ขาย แม้จะมีหลายการณีที่การซื้อบ้านแบบผ่อนตรงจะยังไม่โอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของผู้ซื้อทันที โดยโครงการหรือเจ้าของยังถือกรรมสิทธิ์อยู่ แต่เพื่อป้องกันปัญหา หากเจ้าของเดิมเสียชีวิต หรือถูกฟ้องล้มละลาย หรือนำบ้านไปขายซ้ำซ้อน เราจึงควรตกลงให้มีการโอนกรรมสิทธิ์บ้านมาเป็นชื่อเราทันทีหลังทำสัญญาซื้อขายเสร็จสิ้น แล้วจดจำนองบ้านกับผู้ขายไว้เป็นหลักประกัน
ขอดีของการโอนกรรมสิทธิ์และจดจำนอง จะช่วยป้องกันความเสี่ยงของทั้งสองฝ่าย ผู้ขายมีหลักประกัน ส่วนผู้ซื้อมีสิทธิ์ในบ้านทันที แม้จะยังผ่อนไม่ครบ แต่ชื่อในโฉนดเป็นของเราแล้ว ที่สำคัญยังเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้มีหลักฐานในระบบทางราชการ จึงสามารถบังคับคดีได้หากผิดสัญญา
สรุปง่ายๆ ได้ว่า การซื้อบ้านแบบผ่อนตรง ก็คือการซื้อขายโดยตรงกับโครงการหรือเจ้าของเดิม แบบไม่ต้องกู้สินเชื่อกับธนาคารนั้นเอง โดยเรากับเจ้าของเดิมสามารถตกลงราคา ค่างวด และอัตราดอกเบี้ยได้เอง แต่ส่วนใหญ่ต้องยอมรับว่าอัตราดอกเบี้ยที่โครงการหรือเจ้าของเดิมคิดจะสูงกว่าธนาคาร และจะคงที่ตลอดอายุสัญญา จึงไม่สามารถขอ Retention หรือ Refinance ได้นั่นเองค่ะ